9 มิถุนายน 2555 @ ไปประชุมการเตรียมงานปลูกสวนไผ่ และการเตรียมงานการจำหน่ายข้าวปลอดสารพิษที่ทางศูนย์การเรียนรู้พันธุ์ข้าวฯ สีข้าวเอง ที่จังหวัดชัยนาท

สวัสดีครับเพื่อนๆ หลังจากที่ได้ไปเยี่ยมชมฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค ที่สระบุรีแล้ว ก็รีบมาหากำนันธวัชชัย ที่ศูนย์การเรียนรู้พันธุ์ข้าวชุมชนดักคะนน ที่ ต.ธรรมามูล จ.ชัยนาท เพราะว่าจะมาประชุมกันเรื่องปลูกสวนไผ่ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับไผ่ ในการฟื้นฟูและเสริมสร้างอาชีพในพื้นที่ประสบภัย โดยพื้นที่ที่ใช้ในโครงการนั้นติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีความเสี่ยงน้ำท่วม และเป็นพื้นที่น้ำท่วมเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ 2554 ที่ผ่านมา

พอพวกเรามาถึงก็ไม่ลืมไปเยี่ยมชม แปลงนาอนามัยที่ ได้ทำเป็นแปลงนาทดลอง 4 แปลง (รายละเอียดสามารถอ่านได้ที่ลิงก์นี้ครับ) ซึ่งเรากำลังทดลองปลูกนาข้าว 1 ไร่ ให้ได้ผลผลิต 300 ถัง กันอยู่ หากสามารถทดลองจนได้ผล ก็จะเป็นประโยชน์มหาศาลกับเกษตรกร และประเทศชาติ ผมดำเนินการตามแนวทางที่ได้ร่วมประชุมกันไว้กับทางคุณปรเมศวร์ มินศิริ ที่กรุงเทพฯ


พี่ดวงพร (ซ้าย) พี่เพ็ญศรี (2 จากซ้าย) ผม (รถเข็น) และกำนันธวัชชัย (ขวาสุด) พวกเรากำลังคุยกันถึงแปลงทดลองทั้ง 4 แปลงๆ ละ 2 งาน รวม 2 ไร่ ที่ตอนนี้ชาวบ้านกำลังหัวเราะ และวิพากย์กันถึงวิธีการ ที่เกษตรกรเองก็ไม่เคยเห็นกันมาก่อน ว่าจะได้ผลหรือไม่ / ส่วนตัวคิดว่า ผมเจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ เวลาที่คิดต่าง เราจะต้องทนกับแรงเสียดทาน เพราะถ้าไม่สำเร็จก็ต้องพยายามต่อเนื่องจากหากคิดตามหลักการแล้วต้องได้ เมื่อสำเร็จเสียงหัวเราะนั้น แรงเสียดทานนั้น จะกลับมาหนุนเราทันที และประโยชน์จะย้อนกลับไปที่เกษตรกรครับ ที่นี้ก็ "อมยิ้ม" ทีหลังมีความสุขกว่าครับ







นี่ละครับปลูกข้าวห่างขนาดนี้ 50 เซนติเมตร เกษตรกรกรถึงขำกันครับ


จากนั้นเราก็เข้ามาที่ใต้อาคารเรือนไทยของศูนย์การเรียนรู้ฯ ซึ่งกำนันธวัชชัยได้เตรียมข้าวเปลือก และข้าวสารของ ข้าวพันธุ์ "กข 31" และ "ไรซ์เบอร์รี่" เอาไว้ทั้ง 4 ตะกร้า หรือเรียก กระบุง ผมก็ไม่แน่ใจนะครับ โดยตัวอย่างข้าวสารทั้งหมดนี้ ทางผมจะได้นำกลับไปปรึกษาร่วมกับคุณปรเมศวร์ ในการทำการตลาดต่อไปครับ เบื้องต้นเราคงจะประชาสัมพันธ์จำหน่ายออเดอร์ล่วงหน้าให้กับเกษตรกร แล้วนำเงินไปซื้อเครื่องสีข้าว เพื่อให้ชุมชนมีเครื่องสีข้าว และผลิต "ข้าวปลอดสารพิษ" ส่งกลับมายังผู้ซื้อที่มีความตั้งใจช่วยเกษตรกรที่เป็นผู้ประสบภัยร่วมกัน

และเราก็ยังประชุมเรื่องการจัดตารางเวลาของโครงการปลูกสวนไผ่ ที่มีเป้าหมายการนำเหล่าอาสาสมัครมาช่วยกันปลูกพันธุ์ไผ่ ในช่วงระหว่าง สัปดาห์ที่ 2-3 ของเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งมีส่วนสำคัญเรื่องการปรับหน้าดิน การเตรียมระบบน้ำ การลงพันธุ์ การเตรียมงานสำหรับอาสาสมัครที่จะมาร่วมงาน การทำประชาสัมพันธ์




ไม่ได้มาที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ แค่แป๊บเดียว มาสังเกตุอีกที พบว่าที่นี่มีสมาชิกเพิ่มด้วยครับ เลยนำภาพเก็บตกมาฝากครับ ก็เจ้าฝูงลูกเป็ด และคอกสุนัขที่พึ่งเกิดใหม่ครับ





(เก็บตกฝูงเป็ด) ช่วผมนับด้วยนะครับ มี 10 ตัวครับ 
เดินนัวเนียกันไม่แตกกลุ่มเลยครับ


(เก็บตกที่ 2 น้องตะวัน กำลังอุ้มลูกเจ้าแดง ที่คลอดลูกออกมาตั้ง 11 ตัวครับ แต่พึ่งตายไป 1 ตัว เหลือ 10 ตัว เท่าฝูงเป็ดครับ เจ้าแดงเป็นสุนัขที่พลัดหลงมาอยู่ที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ตอนน้ำท่วมนะครับ ส่วนน้องตะวัน ไม่ได้พลัดหลงมาจากไหนครับ เป็นลูกสาวของกำนันธวัชชัย ครับ)

ผมคงต้องรีบกลับกันก่อน เพราะเรายังต้องแวะไปดูพันธุ์ไผ่ กันอีกครับ แต่ยังไงก็ยังต้องกลับมาที่นี่อีกในวันที่ 11 มิ.ย.55 นี้ครับ เพราะมีนัดประชุมกับทางบริษัท คูโบต้า สำนักงานใหญ่ที่จะมาทำงานวิจัยร่วมกันนะครับ เพื่อนๆ ติดตามการทำงานโครงการด้านเกษตร และการฟื้นฟูอาชีพผู้ประสบภัยนะครับ ยิ่งทำ ยิ่งมีกำลังใจ เพราะว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่คิดเลยครับ หากเราตั้งใจจริง และคิดต่าง คิดนอกกรอบบ้างในบางครั้ง บนพื้นฐานของหลักการ และข้อเท็จจริงจากประสบการณ์์ตรงของเกษตรกรครับ

เพราะพวกเราไม่ใช่เกษตรกร แต่เป็นแค่มือสมัครเล่นด้านเกษตร แต่เป็นนักการจัดการแบบมือกลางๆ นะครับ แต่สำคัญที่สุดคือ เราเป็น อาสาสมัครมืออาชีพ ที่ต้องการช่วยผู้ประสบภัยที่เป็นเกษตรกร ครับ

ขอบคุณครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Follow me on Twitter
Visit me on Facebook