30 พฤศจิกายน 2553 @ ประชุมความคืบหน้าการทำงานของเครือข่ายอาสาฯ ที่โรงแรมดุสิตธานี ตอนที่ 1/2

เขียนที่บ้าน 3 ธันวาคม 2553

วันนี้ ผมมีความรู้สึกว่า ไม่อยากจะดองบทความเรื่องความรู้สึกต่างๆ ในวันที่มีการประชุมความคืบหน้างานของเครือข่ายอาสาฯ ที่โรงแรมดุสิตธานี ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 เพราะผมคิดว่า การทำงานของกลุ่มอาสาต่างๆ นั้น มีพัฒนาการมาถึงจุดสำคัญ มีมุมมองที่ผมคิดว่า เป็นเรื่องสำคัญ และละเอียดอ่อนมาก ในหลายๆ ประเด็น ซึ่งผมขอแบ่งเป็น 2 ตอนนะครับ

ก่อนที่จะไปถึง "ความรู้สึกที่ผมอยากจะนำเสนอ" นั้น ผมอยากเกริ่นนำถึงแนวทางด้านความคิดของผมที่มีมาแต่อดีตก่อน เพื่อที่จะให้เพื่อนๆ ที่พึ่งอาจจะมาอ่านบทความนี้ ได้มองเห็นภาพรวมของตัวผมก่อน ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่า "สำคัญ" เนื่องจาก อาจมีหลายท่านคิดว่า ผมเป็นใคร ทำไมถึงมาแสดงความคิดเห็นที่ค่อนข้าง อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อการทำงานของกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มต่างๆ ได้

โดยบุคคลิกส่วนตัวของผมนั้น ผมจะง่ายๆ อะไรก็ได้ หมายถึง ผมทำอะไรก็ได้ ถ้าในสถานการณ์นั้นๆ ผมควรจะทำ และสามารถเปลี่ยนสถานะได้ทันที หากว่าเหตุการณ์เปลี่ยนไป และยอมรับ รวมถึงพร้อมปรับตัวให้เข้ากับ เหตุการณ์ และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จนบางครั้งคนอื่นที่มองผมเข้ามา อาจจะปรับความรู้สึกตามผมไม่ทันเสียด้วยซ้ำ ถ้าจะให้เข้าใจง่ายขึ้น ถึงผมเป็นวิศวกร แต่ถ้าจำเป็น ผมพร้อมเป็นแรงงานยกกระสอบทรายได้ทันที ดั่งคำกล่าวของ คุณรัฐภูมิ 1500 miles ที่เคยบอกกับทุกคนไว้ในที่ประชุมที่ ทีวีไทย

และส่วนตัวผมชอบศึกษาเรื่อง "ความขัดแย้งในองค์กร" มากๆ เนื่องจากผมมักเป็นคนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่ผมทำงานเสมอๆ เช่น
  • ผมถูกจ้างในอัตราเงินเดือนที่ต่ำที่สุด ในตำแหน่งเดียวกันกับคนอื่น แต่กลับทำงานมากกว่าอีกหลายคน รวมถึงมีผลงานที่ดีกว่า จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกลายเป็นสาเหตุ ให้มีพนักงานหลายคนต้องโดนเชิญออกจากงาน
  • ผมชอบนำเสนองานใหม่ๆ ให้กับองค์กร และมุ่งมั่นที่จะทำงานนั้นให้ลุล่วง ซึ่งมีแรงเสียดทานมากกว่าปกติ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการทำงาน เป็นต้น
ผมจึงระมัดระวังตัวมาก ที่จะกลายเป็นสาเหตุของความขัดแย้งในองค์กร หรืออาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในองค์กรนั้นๆ ดังนั้นแล้วการศึกษาความขัดแย้งในองค์กรนั้น น่าสนใจ และผมเชื่อว่า ถ้าใครก็ตามที่สามารถบริหารจัดการเรื่องนี้ได้ดี จะสามารถเป็นผู้นำที่ดีเยี่ยมได้ ซึ่งตัวผมเองก็ยังไม่สามารถทำได้ ที่สำคัญ ผมเคยผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายของการบริหารจัดการเรื่องนี้มาแล้ว จึงไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใคร หรือองค์กรใดอีก

ผมหวังว่า บทความของผมชุดนี้ ทั้งหมด 2 ตอน จะสามารถทำให้ เกิดการ "ลดความขัดแย้งในหมู่กลุ่มอาสาสมัคร" ที่ผมเชื่อว่า ทุกๆ กลุ่ม หรือบุคคล นั้น ล้วนอาสามาทำประโยชน์ให้กับประเทศไทย ให้กับผู้ประสบภัยพิบัติได้บ้าง ไม่มาก ก็น้อย

ก่อนจะเข้าสู่ตอนที่ 2 ที่อาจกล่าวถึง จุดสำคัญๆ ที่ผมมองเห็นนั้น ผมขอแชร์ หรือนำเสนอ วิธีคิด ที่ผมก็จำไม่ได้แล้วว่าเป็นของใคร แต่เป็นการสรุปวิีธีคิดจากประสบการณ์รวมๆ ของผมตลอดชีวิตที่ผ่านมา ทั้งสำเร็จ และล้มเหลว ดังนี้
  • ทุกคน เป็น "คน" ทุกคนมีความสำัคัญเท่าๆ กัน ในความรู้ ความสามารถที่คนๆ นั้นมี และเป็น ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ีใครผิด และถูก ดังนั้น ทุกคนควรเคารพในความคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือส่วนรวมเสมอ ไม่ดูถูกความคิดของคนที่คิดต่างจากเรา และไม่มองว่า "คนที่คิดต่างจากตัวเรานั้น คือ ผิด หรือ คนละพวกกับเรา" (ผมคิดแบบนี้นะครับ ราชสีห์ ไม่ควรเหยียดหยามหนู เพระหนูก็มีความสามารถในแบบของหนู เช่นกัน)
  • การอยู่ร่วมในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มอาสาสมัคร กลุ่มต่างๆ นั้น ผมคิดว่า ทุกท่านมีความสามารถกันทุกคน เท่าที่ผมสังเกต ทุกท่านมีความคิดเป็นของตัวเอง มีประสบการณ์ และความสามารถจริงๆ (เอาสั้นๆ นะครับ แบบบ้านๆ เข้าใจง่ายๆ คือ "ทุกท่านไม่ได้โง่" แต่อาจจะ "แกล้งโง่" ได้ตลอดเวลา)
  • ดังนั้น ในสังคมย่อมมีคนที่พร้อมจะบริหาร "ความแกล้งโง่" ได้ตลอดเวลาเช่นกัน ซึ่งผมจะเรียกง่ายๆ ว่า คนที่ฉกฉวยโอกาส ซึ่งถ้ามองให้เป็นแล้ว "การฉกฉวย" นั้นสามารถทำได้ทั้ง "ด้านบวก" และ "ด้านลบ" ขึ้นกับหลายปัจจัยที่จะกำหนดให้เป็นไป
  • ในทุกสถานการณ์นั้น ย่อมมีคนที่ถูกมอง และไม่ถูกมอง ย่อมมีคนที่โดดเด่น และไม่โดดเด่น ในหมู่หญิงสาว ที่สวยทุกคน ย่อมไม่มีใครโดดด่น ในหมู่ทหารกล้า ย่อมมีคนผู้นำเสมอ ดังนั้นแล้ว ทุกคนควรยอมรับกับ "ความเป็นไป" ที่เกิดขึ้นได้กับทุกๆ ท่านที่มาร่วมทำงานอาสาในครั้งนี้
  • เรามักได้ยินเสมอในที่ประชุมว่า ควรให้ชาวบ้านมีประชาคม ที่ตัดสินกันเอง เพราะเราไม่ใช่คนในพื้นที่ ชาวบ้านตัดสินใจกันเองได้ เช่นกัน ในกลุ่มอาสาสมัครนั้น เราก็ควรมีประชาคมด้วยกันเช่นกัน เพื่อจะคัดกรองคนที่ไม่ใช่ตัวจริงออกไป และรักษาตัวจริงไว้
  • และที่สำคัญสุดท้าย คือ ความเข้มแข็งขององค์กรนั้น เกิดจากความสามารถที่หลากหลาย ซึ่งผมคิดว่า ความหลากหลาย ทำให้เกิดความขัดแย้งได้ แต่นั่นเป็นเพียงพัฒนาการ ไปสู่ความเป็นปึกแผ่นของเครือข่าย ถ้าทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือการช่วยเหลือผู้ประสบถัย และจริงใจที่จะเปิดใจพูดคุยกัน ไม่ผ่านตัวกลาง และมีเหตุมีผลต่อกัน
ดังนั้น กลุ่มอาสาทุกกลุ่ม ทุกท่าน ถ้าเป็นไปได้ ไม่ควร "แกล้งโง่" ควรที่จะกล้าตัดสินใจ กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าพูดคุยกัน กล้่าที่จะยอมรับกัน พร้อมจะทำงานเต็มที่ถึงไม่มีใครเห็นก็ตาม นอกจากตัวเรา มีผู้ประสบภัยเป็นที่ตั้ง เปิดใจยอมรับผู้อื่น และกล้าที่จะใช้ประชาคม กับคนที่จะฉกฉวยโอกาสทั้งด้านบวก และลบ

ซู้ด....ฟู่.....ซู้ด.....ฟู่......(ถอนหายใจออก สูดลมหายใจเข้า) ผมกำลังใช้ความกล้า ที่จะพิมพ์บทความเหล่านี้ ให้หลายๆ ท่านได้อ่าน ซึ่งผมยังไม่ทราบผลของบทความนี้เลยว่า จะออกมาเป็นอย่างไร


งั้นไปต่อกับ ตอนที่ 2 เลยนะครับ กับมุมมองเรื่องของ ความขัดแย้ง ที่อาจจะเกิดขึ้นในกลุ่มอาสาสมัคร ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราควรที่จะร่วมกันทำอย่างไร ให้ความขัดแย้งนี้ มันลดลงจนไม่ส่งผลต่อการทำงานร่วมกัน

เทคนิคส่วนตัวในการดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ :
ผมคิดของผมเองว่า "ผมเคยผ่านความเป็นตาย" มาแล้ว และผมก็ "เป็นคนพิการรุนแรง" ชีวิตที่เหลืออยู่ ผมอยากที่จะเป็นประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่ เวลาที่ผมเหลืออยู่จะทำได้ พร้อมๆ กับนำเสนอให้หลายๆ ท่าน ได้ลองคิดเล่นๆ (แบบจริงๆ) ว่า "ถ้าตัวเองได้จัดงานศพให้ตัวท่านเอง ท่านจะทำอย่างไร ท่านจะบริหารจัดการอย่างไรให้กับครอบครัวของท่านได้ ท่านอยากให้คนที่มางานศพท่าน รู้สึกอย่างไรกับท่าน" บางทีถ้าท่านได้ลองจินตนาการ อาจนำไปสู่แนวคิดบางอย่างในการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ ต่อตนเอง และผู้อื่นอย่างแ้ท้จริงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Follow me on Twitter
Visit me on Facebook