22 กรกฎาคม 2555 @ ไปเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้พันธุ์ข้าวบ้านดักคะนน ต.ธรรมามูล จ.ชัยนาท

สวัสดีครับเพื่อนๆ หลังจากกลับมาจากไปทอดผ้าป่าที่ จ.ตาก และ จ.ลำพูน มา 2 วันแล้ว วันที่ 2 เรากลับกันแต่เช้า ไม่ได้ตามคณะผ้าป่าไปถึงเชียงใหม่ จึงมาถึงชัยนาทช่วงบ่ายกว่าๆ ซึ่งตามเส้นทางต้องผ่านศูนย์การเรียนรู้พันธุ์ข้าวบ้านดักคะนน จึงตัดสินใจแวะผ่านเพื่อไปถ่ายภาพความคืบหน้าของนาทดลอง และไปรับเอกสารการใช้เงิน 5 หมื่นบาทในโครงการย่อย "ห้าหมื่นยั่งยืนถาวร" กับกำนันธวัชชัย ไปด้วยเลยทีเดียว เนื่องจากผมต้องสรุปการใช้เงินบริจาคในโครงการต่างๆ บนเว็บ

อันดับแรกเลยนะครับ พอได้เห็นข้าวแล้วเป็นปลื้มมากนะครับ ขนาดผมไม่ได้เป็นคนปลูกเองนะครับ รู้สึกเพียงมีส่วนร่วมเพราะข้าวเหล่านี้อยู่ในโครงการที่เป็นนาทดลอง พอเห็นรวงข้าวแล้วดีใจที่สุด และในใจยังรอคอยวันที่มันเต็มรวงและเก็บเกี่ยว คงไม่นานนี้แล้วครับ ช่วงระหว่างวันที่ 25-30 สิงหาคม 2555 นี้ก็จะเก็บเกี่ยวแล้วครับ 



นี่ไงครับภาพถ่ายแปลงนาข้าวทดลองนะครับ คือต้นข้าวแข็งแรงมากครับ ใบเขียว ตั้งตรงตระหง่านดูเข้มแข็งมากๆ ครับ อีกสัปดาห์ผมจะเก็บภาพมาฝากเพื่อนๆ อีกนะครับ ถ้าจะว่าผมบ้าเห่อ ก็พอจะได้ คือเวลาเห็นแล้วมีความสุขมากๆ นะครับ

ยังมีทีเด็ดอีกนะครับ เพื่อนๆ ลองดูภาพข้างล่างนะครับ คือกอข้าวที่เราทดลองปลูกห่าง 50 เซนติเมตร นะครับ เป็นการทดลองแนวคิดของการทำนาข้าว 1 ไร่ ให้ได้ 300 ถังนะครับ ส่วนตัวก็ลุ้นจนตัวโก่ง คอยถาม คอยตาม กำนันธวัชชัย บ่อยๆ จนไม่รู้ว่ากำนันจะรำคาญรึเปล่า เพราะห่วงเรื่องการให้สารอาหารพืช ที่ต้องให้มากๆ เพราะเราหวังผลมากกับเขา แต่เท่าที่ผมดูแล้วตัวแปรสำคัญน่าจะเป็นเรื่องจำนวนต้นกล้าข้าวนะครับ ผลได้อย่างไร เร็วๆ นี้ก็ทราบแล้วครับ




เป็นนาข้าวที่ปลูกห่างจนชาวบ้านขำๆ ครับ
อีกไม่นานจะรู้กันว่า ได้ผลอย่างไร ถึงเกษตรกรขำก็ไม่เป็นไรครับ



เรื่องที่สอง คือ การรับเอกสารรายละเอียดที่กำนันได้รับการสนับสนุนเงิน 5 หมื่นบาทจากโครงการถุงยังชีพถาวรเพื่อการฟื้นฟูอาชีพผู้ประสบภัย โดยได้รับบริจาคทั้งหมดจากทาง BangkokVanguards ที่ได้เคยบริจาคให้สำหรับโครงการส่งเสริมปลูกข้าวด้วยเกษตรอินทรีย์ 1,300 ไร่ นำนวน 195,000 บาท และโครงการศูนย์การเรียนรู้ไผ่ฯ  นำนวน 150,000 บาท มาแล้ว

และสำหรับโครงการที่ใช้เงิน 5 หมื่นบาทนี้ ผมก็ตั้งชื่อเป็นโครงการห้าหมื่นยั่งยืนถาวร เพื่อสื่อให้เห็นถึงวิธีคิดเอาเงิน 5 หมื่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ผันเป็นเงินทุนคืนได้ และยังสามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่องต่อไปได้ เป็นแหล่งอาหาร และรายได้ให้กับศูนย์ฯ ในอนาคตได้ สามารถอ่านรายละเอียดที่ลิงก์นี้ครับ http://selfreliefpackage.blogspot.com/p/5.html


หน้าโรงเรือนเพาะเห็ด


ภายในโรงเรือนเพาะเห็ดครับ


บรรยากาศบ่อปลาช่อน ที่มีโรงเรือนไก่ไข่ ด้านบนครับ


โรงเรือนไก่ไข่ 48 ตัวที่ออกไข่ทุกวันครับ



ข้างใต้โรงเรือนมีปลามารุมกินมูลไก่ครับ

นั่งคุยกับกำนันไม่นานก่อนกลับ มีเด็กนักเรียน 2 คนขี่จักรยาน 2 คัน ท้ายรถมีถุงคนละใบ เอาขวดพลาสติก กระป๋อง มาแลกไข่ไก่ ส่วนตัวผมชอบมาก กำนันเริ่มโครงการแลกไข่ จากโรงเรียนที่ลูกสาวเรียนอยู่ เพื่อหวังให้เด็กๆ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ซึ่งผมมองว่าเป็นการปลูกฝัง เพาะกล้าในใจให้กับเยาวชนได้อย่างดีนะครับ และยังเป็นการทำให้เด็กๆ มาเยี่ยมเยือนศูนย์การเรียนรู้ฯ ไปในตัวด้วยครับ



กำลังนับกันใหญ่เลย



กำลังแลกไข่ไก่กันอยู่ครับ


ถ่ายภาพร่วมกันกับพี่ดวงพร (ซ้าย) และกำนันธวัชชัย (ขวา-ม่วง)  ก่อนกลับครับ

แล้วเราก็กลับกันครับ เป็นการแวะทางผ่านที่คุ้มค่ามากๆ ครับ ได้เห็นทั้งข้าวที่กำลังสาวยงาม ได้รายละเอียดโครงการที่ยั่งยืนและดีมากๆ แล้วยังได้มารับรู้ถึงกิจกรรมที่ทำให้เยาวชนรู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์อีก ให้ Like กำนันธวัชชัยไป 1,000 Like เลยครับ ติดตามบทความต่อเนื่องนะครับ เพราะใกล้เกี่ยวข้าวแล้วครับ

ขอบคุณครับ

1 ความคิดเห็น:

Follow me on Twitter
Visit me on Facebook