22 มีนาคม 2556 @ ไปขอทำบัตรคนพิการใหม่ 5 ปีผ่านไป ยิ่งแย่กว่าเดิม ตอนที่ 2/2 สงสัยต้องกลับมาผลักดันสิทธิ์คนพิการอีกครั้งครับ

สวัสดีครับเพื่อนๆ จากตอนที่ 1/2 นะครับ ที่ผมกับน้องสาววิ่งขอใบรับรองแพทย์ อาจมีบางท่านมองว่า ผมต้องการเร็วเอง แต่ถ้าเรานึกกันดูให้ดีว่า ถ้าไม่เร็วแสดงว่า เราต้องไปรอถึงเย็นเพื่อให้ได้ใบรับรองแพทย์ แล้ววันรุ่งขึ้นถึงจะออกเดินทางมาทำบัตรอีกหรือครับ รวมๆ แบ้วผมคิดว่า การดำเนินการของภาครัฐที่ช้ามากๆ ต่างหาก เพราะว่ากว่าจะได้บัตรคนพิการ ผมต้องผ่านแต่หน่วยงานของรัฐล้วนๆ สำหรับครั้งนี้ก็มีที่พระนั่งเกล้าที่ให้บริการดี ดีทุกครั้งอยู่แล้วครับ ถึงทาง ผู้ใหญ่ไม่มาเดินเรื่องให้ ก็ไม่ช้านะครับ เพียงแต่เราไม่ได้มาที่พะนั่งเกล้าตั้งแต่ครั้งแรก แต่กลับตัดสินใจผิดไปที่ รพ.บางบัวทอง เพราะเห็นว่าใกล้ๆ ก็บ้านอยู่บางบัวทองครับ

ออกจาก รพ.พระนั่งเกล้า ก็รีบมาที่ สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี ที่อยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ประมาณ 15 นาที เราก็ได้ใบแจ้งความเอกสารหาย ตรงนี้ผมมีข้อเสนอว่า ถ้ากระทรวงพัฒนาสังคมฯ กลัวว่าถ้าไม่มีใบแจ้งความแล้วจะมีคนพิการมาทำบัตรเยอะ ก็เก็บเงินไปเลยครับ 100, 200 บาท อะไรก็ว่ามา ต้องให้เดินทางไปนู่นมานี่ อย่างที่ผมตำหนิไปครับว่า ไม่ลองมาพิการดู จะได้ทราบถึงอุปสรรคต่างๆ




นำภาพ สภอ.มาฝากครับ


ใบแจ้งความเอกสารหายครับ

มาถึงศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ตอน 11.30 น. แบบรีบที่สุด ไม่อยากให้ติดเที่ยง เพราะจะกลายเป็นลากยาว เสียเวลาอีก กว่าจะหาที่จอดรถสำหรับคนพิการแล้วค่อยเข้าไปได้ มีรถเก๋งจอดขวางทางตรงที่ห้ามจอด คือ รถตัวเองจอดตรงที่จอดรถคนพิการไม่ได้ ก็จอดขวางทางมันเลยตรงเส้นไขว้สีเหลืองห้ามจอด ทะเบียน 1 กด 9661 กทม. ครับ ไม่รู้ใคร เหมือนเดิมครับทำงานเป็นทีมเวิร์ค น้องสาวรีบไปติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อน แต่เสียงไม่ค่อยดี ผมจึงร้อนใจอยากรีบไปที่ ห้อง พมจ.นนทบุรี เร็วๆ




นี่ครับจอดตรงที่ห้ามจอดเส้นไขว้สีเหลือง


ทางลาดขึ้นศาลากลางนนทบุรีครับ

มาถึงปุ๊บ จนท.ผู้ชาย (ไม่อยากเขียนชื่อ-นามสกุล) บอกเราว่า (ผมขอพิมพ์บทสนทนาคร่าวๆ อาจไม่ตรงทั้งหมด แต่ว่าก็มีเนื้อหาสำคัญๆ ค่อนข้างครบครับ)

  • จนท.ผช.: "ต้องเอาเล่มทะเบียนบ้านมาด้วย กลับไปเอามาใหม่" 
  • ปรีดา: "มีทางอื่นไหมครับ มันเสียเวลา และตอนผมโทรมาถาม ก็ไม่ได้บอกว่าต้องเอาเล่มทะเบียนบ้านมานะครับ" 
  • จนท.ผช.: "งั้นคุณไปคัดสำเนาที่ข้างบน"
  • ปรีดา: "จริงๆ แล้วทะเบียนบ้านในบัตรประชาชนของผมตรงกับทะเบียนบ้านด้วยครับ เพราะผมต้งใจทำบัตรประชาชนใหม่ให้ตรงกับทะเบียนบ้านครับ คงไม่ต้องไปทำสำเนามั้งครับ"
  • จนท.ผช.: เงียบและมีหน้าตาเซ็งๆ พอรอสักพัก ก็พูดประโยคทีเด็ดมากๆ ว่า "คุณต้องไปให้ผู้ใหญ่บ้านรับรองมาว่า คุณเป็นคนดูแลคนพิการ"
  • ปรีดา: ผมหน้าแดงโกรธมาก แล้วตอบแบบทันควันว่า "ภัทรพรเป็นน้องสาวผม ในสำเนาทะเบียนบ้านชื่อพ่อ-แม่ เหมือนกัน แล้วผมก็พูดจารู้เรื่อง มีสติสัมปชัญญะ ทำไมต้องมีใครมารับรองด้วยครับ" 
  • จนท.ผช.: เงียบหน้าตาเซ็งมากๆๆๆๆๆ และรีบทำบัตรให้ผม แล้วยื่นบัตรให้ผม ระหว่างนั้นมีอีกคนมาติดต่อ เขาพูดว่า "รอบ่ายโมงค่อยมาติดต่อ พักเที่ยงอยู่ครับ"
  • ปรีดา: "ขอบคุณมากๆ ครับ"

ผมบอกกับน้องสาวว่า "ถ้าไม่ให้ทำวันนี้ ผมจะให้ จนท.คนนั้น เอาระเบียบมากางคุยกันเลย ถ้าผมทำผิดระเบียบ ผมจะยอมรับ นี่ถ้าเป็นคนพิการที่ไม่ค่อยประสามา คงกลับบ้านตั้งแต่เขาพูดว่า ให้กลับไปเอาเล่มทะเบียนบ้านตัวจริงมาแล้ว"


วันนี้ถ้าน้องสาวผมไม่ได้มาด้วย ผมคิดว่า คงไม่ทันการณ์แน่นอน ดังนั้นเหตุการณ์ครั้งนี้ มีข้อเสนอทางออกสำคัญๆ ดังนี้ครับ

  1. กระทรวงพัฒนาสังคมฯ (พม.) ต้องอบรม จนท.ให้มากกว่านี้ 
  2. จนท. ของ พม. ต้องมีจิตใจเมตตาอารีเป็นพื้นฐาน เพราะต้องทำงานกับคนพิการที่มีความลำบากอยู่แล้ว หากใครไม่มีพื้นฐานนี้ก็หาคนใหม่ ยังมีคนไทยระดับ อนุ-ปริญญาตรี ที่ต้องการงานทำอีกมาก
  3. หากสิ่งที่ จนท. พูดเป็นจริงกับคำว่า "เป็นระเบียบใหม่" แสดงว่า พม.ต้องพิจารณาระเบียบใหม่แล้วครับ อย่าเอาเรื่องไม่เป็นเรื่องมากำหนดกรอบที่ทำให้คนพิการเข้าถึงสิทธิ์ได้ลำบาก และควรหาทางเลือกด้วย เช่น ถ้าคุณไม่เอาใบแจ้งความมา คุณต้องเสียค่าทำบัตร 50, 100 บาทก็ว่ากันไป 
  4. เลิกเสียที เรื่องเอะอะอะไรก็ให้ไปขอใบรับรองแพทย์ความพิการ มันแย่มากๆ มันไม่ง่ายเลยกว่าจะได้ใบรับรองแพทย์ และผมเชื่อแพทย์ว่า ใบรับรองความพิการมีอายุ 7 ปี พม.ควรทำงานแบบบูรณาการได้แล้ว ควรดูว่ากระทรวงอื่นทำงานอย่างไร เรื่องนี้ควรจริงๆ หากทำได้ประเทศชาติจะเจริญขึ้นเยอะ ไม่เสียค่าเดินทาง ไม่เสียน้ำมัน อากาศไม่เป็นพิษ (เหหมือนจะบ่น หยุดแค่นี้ก่อน) และถ้าให้ดี พม. โดย พก. (สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ) ควรเป็นเจ้าภาพให้มีการออกใบรับรองแพทย์สำหรับคนพิการถาวร ได้แล้วครับ และเดินสายทำหนังสือเวียนให้หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรับทราบด้วย เพราะคนพิการยังมีความจำเป็นต้องเอาใบรับรองแพทย์ไปใช้สิทธิ์กับหน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น กับกองทุนผู้ประสบภัยบนถนนฯ กับประกันสังคมฯ เป็นต้น
แค่ 4 ข้อละกันครับ อยากเสนออีกแต่จะพาลไปเรื่องอื่น มีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข ผมไม่อยากพูดไปถึงระบบฐานข้อมูลคนพิการของ พก. เดี๋ยวจะยาว เพราะเห็นข้อที่ต้องปรับปรุงอย่างมาก เกรงว่าจะไปขัดผลประโยชน์ใครเข้า ระบบยังล้าหลัง ทำให้คนพิการที่มีสมอง จำนวนมากเบื่อหน่าย ที่วงการคนพิการไม่พัฒนาไปไหนเสียที

ขอโทษนะครับ ที่บทความ 2 ตอนนี้ อาจจะแรงไปสักนิด แต่เพราะว่ามันซ้ำซาก กฏหมายดีแล้ว แต่คนปฏิบัติไม่ดี ครับ 



4 ความคิดเห็น:

  1. แจ่มแจ้งครับ ผมก็เคยเจอมากับตัวเอง (ผมพิการเป็นอัมพาต)
    พักหลัง ๆ นี้แทบไม่อยากจะไปเลย หน่วยงานราชการ ยุ่งยาก เรื่องเยอะ
    เหมือนจะเห็นว่าเราพิการ เลยเพ่งเล็งเป็นพิเศษ อะไรที่ควรจะง่าย ก็ทำให้มันยากซะงั้น

    ไม่อยากจะเอ่ยครับ มันจี๊ด ๆๆๆ

    ตอบลบ
  2. น่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่เราไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงเท่านั้นเอง

    ตอบลบ
  3. จนท.บอกแต่ละอย่าง ไม่คิดอำนวยความสะดวกให้คนพิการเขาเลย
    ที่บอกให้ผู้ใหญ่บ้านรับรอง ความคิดภูธรมากๆ

    พอดีคนหูหนวกไม่มีปัญหาในการเดินทาง
    ส่วนใหญ่ก็ไปรพ.แถวนั้น. ราชวิถี รามา พระมงกุฎ
    ได้ใบรับรอง ก็ไปพก.
    แต่ก็มีถามๆ ว่า ก็รู้ว่าหูหนวกอยู่แล้ว ทำไมต้องให้ไปหาหมอเอาใบรับรองอีก?

    บางคนก็รอทำทีเดียว ในวันคนพิการที่สวนอัมพร เพราะมีรถโมบายของรพ.มาบริการ
    และพก.ก็มีฝ่ายทำบัตรไปตั้งบูธ

    ปีที่แล้วเราไปช่วยเป็นล่าม
    มีปัญหาเรื่องสัญญาณอินเตอร์เนต ทำให้ออกบัตรช้ามาก อีกอย่างเป็นการถ่ายรูปoutdoor
    แสงมันจะมากหน่อย. ขาวๆ จ้าๆ ไม่ค่อยชัด

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. อันที่จริง ตามระเบียบแพทยสภา กำหนดให้ใบรับรองแพทย์มีอายุรับรอง 7 ปี แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับฟังเลย เหมือนดเดิมต้องให้ลองมาพิการดูครับ ถึงจะเข้าใจ

      ลบ

Follow me on Twitter
Visit me on Facebook