หลังจากที่ผมเป็นคนพิการรุนแรง บาดแผลในใจแรก กลับไม่ใช่การถูกปฏิเสธความพิการจากคนใกล้ตัว แต่เป็นการถูกปฏิเสธความพิการจากงาน งานที่ผมเคยทำ และบริษัทก็มองว่าผม มีความรู้ความสามารถในสายงาน แต่ท้ายที่สุดวัฒนธรรมทางความคิดที่ว่า "คนพิการรุนแรง คงไม่สามารถทำอะไรได้" นั้น ทำให้ผมไม่เคยถูกถามว่า "คุณยังสามารถทำงานได้ไหม"
จุดเริ่มต้นนั้น ทำให้หลังจากที่ผมตั้งบริษัทรับงานมาทำ ผมต้องคอยปกปิดว่าตัวผมเป็นคนพิการรุนแรง เพราะกลัวว่า ลูกค้าจะไม่ให้โอกาสงาน ผมไม่เคยไปประชุมกับลูกค้าเลย แต่ผมจะคุยกับลูกค้าทุกวัน และคอยประสานงาน จนลูกค้าอยากรู้จัก จำเป็นหรือสนิท เท่านั้น ผมถึงจะบอกว่า ผมพิการรุนแรง และส่วนใหญ่ก็จะมาเยี่ยมที่บ้าน และทึ่งกับงานที่ผมประสานงาน
ผมทำงานแบบเอกชนมาตลอด 5 ปีหลังรถคว่ำ ผมรู้วิธีใช้ความพิการให้เกิดประโยชน์ จากการได้รับโอกาส ที่เหลือคือความตั้งใจ ฝีมือ ความมุ่งมั่น และความพยายาม ที่ผมจะไม่ให้พลาดโอกาสต่างๆ ให้หลุดมือไป
ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า ถ้าเมื่อไหร่ คนพิการที่ต้องการมีเกียรติ มีความภาคภูมิใจ คนพิการต้องทำงาน สร้างรายได้ ที่สำคัญ ต้องทำแบบเชิงพาณิชย์ด้วย เพราะมันคือโลกของความเป็นจริง โลกแห่งการแข่งขัน ที่ตัวคนพิการเอง อาจจะไม่เห็นคุณค่าของคำว่า "โอกาส" ที่คนปรกติ หรือ คนไม่พิการ มีโอกาสน้อยกว่าคนพิการ ถ้าคิดให้ดีๆ นะครับ
แต่ในที่สุด คนพิการส่วนใหญ่ พลาดโอกาสสำคัญในชีวิตไป เพียงเพราะว่า เขาไม่ฉกฉวยโอกาสนั้นไว้ แล้วทำมันให้ดีที่สุด แบบที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ ใช้ความน่าสงสาร ขอความเห็นใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มันไม่จีรังยั่งยืน
ความตั้งใจ มุ่งมั่น คุณภาพ การแก้ปัญหา ความเข้าใจ การมีเป้าหมาย และทำให้ได้ ต่างหาก ที่จะทำให้คนพิการนั้น อยู่ในสังคมไทย ได้ถาวร และสมภาคภูมิ
ดังนั้น การที่ผมออกตัวเต็มที่ว่า ผมทำงานแบบเอกชน จึงมีที่มาที่ไป และผมต้องการให้เป็นตัวอย่างในสังคมไทย ผมคิดไว้แต่แรกแล้วว่า ไม่มีอะไรสวยงาม ง่าย ไปเสียหมด การทำอะไรใหม่ๆ หรือแปลกๆ ที่ไม่เหมือนคนอื่นนั้น คงต้องใช้ความอดทน ทนกับเสียงบ่น ว่า หรือแม้แต่เสียงหัวเราะ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา
ที่สำคัญมากๆ นะครับ สิ่งที่ผมทำ เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบในวัยเด็ก อายุ 12 ขวบของผมว่า "ผมเกิดมาทำไม" ครับ
ขอบคุณครับ
ปรีดา ลิ้มนนทกุล
คนทุพพลภาพมืออาชีพ
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น