สคริปการพูดบนเวที The Volunteer Empowerment


สวัสดีแขกผู้มีเกียรติ ผู้จัดงาน และผู้ฟังทุกท่านครับ
มืออาชีพ / ผมชื่อปรีดา ลิ้มนนทกุล นิยามตัวเองว่า คนทุพพลภาพมืออาชีพ ผมอยากเล่าถึงที่มาของความเป็นมืออาชีพในวัยเด็ก ที่ผมเคยขโมยเงิน.............

ในภาวะปัจจุบันคนจำนวนมากอาจคิดว่า เงินสำคัญที่สุด แต่ผมคิดว่าต้องมีคนอีกจำนวนมากที่คิดแบบเดียวกับผมว่า “เวลา” สำคัญที่สุด แม้ว่าในปัจจุบันผมจะยังไม่สามารถควบคุมมันได้ทั้งหมด แต่ก็นับว่า ผมให้ความสำคัญกับเวลาแน่นอน ผมพบว่า การที่ผมได้มีโอกาสมาเป็นคนพิการนั้น ทำให้ผมมีเวลามากขึ้น ผมไม่ต้องอาบน้ำ ไม่ต้องขึ้นรถหรือขับรถ ไม่ต้องเดิน ไม่ต้องไปซื้อของ ไม่ต้องยกของ ไม่ต้องวิ่งจ็อกกิ้ง ใน 1 วัน ถ้าผมอยู่บ้าน ตื่นมาตอนเช้ามืด น้องสาวทำขับถ่ายและเช็ดตัวให้ เริ่มทำงาน 9 โมงเช้าถึงตี 1 ทุกวันหักลบกินข้าว 3 มื้อ พร้อมเล่นโกะ หมากล้อมไปด้วย ผมจะเหลือเวลาทำงานวันละ13-14 ชั่วโมง

ตอนที่ผมเรียนจบผมเลือกทำงานเป็นวิศวกรขาย เพื่อน 8 คนขายสินค้าราคา 5 แสนถึง 1.2 ล้านบาท มีผมคนเดียวที่ขายสินค้าราคา 2 หมื่นถึง 3 แสนบาท ในขณะที่รับยอดเท่ากัน ในแต่ละเดือน นั่นหมายถึงผมต้องทำงานเป็น 4 เท่าถ้าเทียบกับทุกคน ผมจึงต้องบริหารจัดการใหม่ ผมเลือกที่จะใช้โทรศัพท์มากขึ้น สกรีนลูกค้าอย่างละเอียด และเลือกไปพบลูกค้าที่มีแนวโน้มในการส่งสัญญาณปิดการขาย จนสามารถปิดการขายเทียบจากใบเสนอราคาได้ 30-40% และมีมาร์จิ้นถึง 45% เพราะผมเซลล์โปรดักซ์ มากกว่าเซลล์ไพรส์ การบริหารเวลาเป็นตัวตั้ง บวกกับการมีครีเอทีฟด้านการตลาด และเข้าใจความต้องการของลูกค้า

อีกตัวอย่างของการบริหารเวลา คือ การพัฒนาอาชีพคนพิการ ที่นำภาพวาดราคา 100-500 บาทของคนพิการมาเข้าโครงการดาวน์โหลดภาพวาดบนมือถือ แล้วเกิดความจำเป็นที่ผมต้องจับพู่กันวาดภาพสีน้ำ หลังจากที่ห่างจากการวาดภาพมาตั้งแต่ประถม 6 ตามหลักสูตรในชั่วโมงเรียนศิลปะ  ผมรู้สึกเสียดายเวลา และความวุ่นวายสับสนไปกับการผสมสี และการล้างพู่กันกับกระบอกน้ำเปล่า 3-4 ใบ จนในที่สุดการวาดภาพด้วยกาแฟ สามารถแก้ปัญหาความวุ่นวายให้ผมได้ ง่าย สะดวกสบาย ไม่สิ้นเปลือง และประหยัดเวลา ผลงานได้รับความสนใจ

เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการทำงานปัจจุบันที่ผมคิดว่า การบริหารเวลาที่ดี ความเป็นมืออาชีพ มีความคิดสร้างสรรค์ไม่หยุดนิ่ง เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา เมื่อนำมาใช้กับการพัฒนาอาชีพคนพิการแล้ว น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้แก่คนพิการ ได้อย่างเป็นรูปธรรม น่าตื่นเต้น และได้รับการยอมรับจากสังคม

ในที่นี้มีผู้มีเกียรติมากมายที่เป็นเป็นผู้ประกอบการ ที่อาจจะเข้าข่าย พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่ตามมาตร 33 ต้องจ้างคนพิการในสัดส่วน 100 ต่อ 1 หมายถึง ถ้าองค์กรของท่านมีพนักงานถึง 100 คนต้องรับคนพิการเข้าทำงาน 1 คน และถ้าหากไม่สามารถทำได้ จะเข้าสู่มาตรา 34 ต้องจ่ายตามค่าแรงขั้นต่ำแทน โดยเฉลี่ยต่อ 1 คน 8 หมื่นบาท ทางออกอีกทาง คือ มาตรา 35 ที่ท่านต้องจัดให้มีสัมปทาน หรือจัดให้มีสถานที่ให้คนพิการประกอบอาชีพ หรือจัดจ้างเหมาคนพิการแบบจ้างเหมา หรือจัดให้มีการฝึกงาน ฝึกอบรม ซึ่งผมสามารถให้คำแนะนำแก่ท่านได้ เพราะงานของเราตอบสนองมาตรา 35 ได้

กลับมาที่แนวคิดที่มีมาแต่ดั่งเดิม ยกตัวอย่างการทำงานพัฒนาอาชีพคนพิการ ในการทำเทเลเซลล์ให้กับค่ายมือถือในการขาย Callering เสียงเพลงรอสาย ที่เราได้พัฒนาโปรแกรมปฏิบัติการ เทเลเซลล์โปร เพื่อให้คนพิการที่ไม่สะดวกจะเดินทางไปสำนักงาน โดยเฉพาะคนพิการรุนแรงทุพพลภาพ ได้ทำงานที่บ้าน โดยใช้มือถือ และเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทีมคนพิการเหล่านั้นสามารถทำเปอร์เซ็นต์ปิดการขายได้ถึง 15-26% ซึ่งมากกว่าคนปกติ เท่าที่ผมทราบ เพียง 3-7% เท่านั้น นี่จึงเป็นจุดเด่นของคนที่มีความพิการเป็นเพื่อน ทำให้คนพิการได้ “เวลา” มาไว้ในมือที่มากกว่าใคร

พวกเรารวมตัวกันเป็น “อาสาสมัครคนพิการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ” พวกเราอยากช่วยเหลือสังคม ตอนที่น้ำท่วมโคราชเมื่อปลายปี 2553 ผมดูข่าวในทีวี ในใจคิดตลอดเวลาว่าคนพิการรุนแรงอย่างผมจะช่วยผู้ประสบภัยได้ไหม ในวันเดียวกันคุณปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้ง Thaiflood.com ได้โทรหาผม ว่าผมและน้องๆ คนพิการจะมาร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยไหม ผมรีบตอบตกลงทันที แล้วคุณปรเมศวร์ ก็ให้ทีมงานออกแบบโปรแกรมที่เอื้อต่อการทำงานของคนพิการที่ผมดูแลอยู่ พวกเราใช้ความสามารถในการโทรหาผู้ประสบภัย พูดคุย ประสานงานกับอาสาสมัครกลุ่มอื่น และผู้บริจาค เพื่อนำความช่วยเหลือตรงไปยังผู้ประสบภัย

ความเป็น “จิตอาสาของคนพิการ” ที่มีต่อสังคมเกิดขึ้นแล้ว เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน พวกเราได้แสดงแล้วว่า เรามี “เวลา” มากกว่าใครๆ เรามี “ความตั้งใจ” เรามี “ความมุ่งมั่น” เรามี “ความสามารถ” หากเพียงสังคมเข้าใจถึงความพิการของเรา ใช้เทคโนโลยีในการทำงานให้เหมาะสม ไว้ใจเรา และวัดผลเราจากงานที่เราทำ แม้คนพิการจะต้องอยู่ที่บ้าน เราก็สามารถทำงานได้ และเรายังสามารถช่วยเหลือสังคมได้
            ผมได้ใช้ภาพวาดด้วยกาแฟ ส่วนตัวของผม ทำเป็นโปสการ์ด ภายใต้โครงการ “ถุงยังชีพถาวรเพื่อการฟื้นฟูผู้ประสบภัย” บริจาคตามจิตศรัทธา เขียนให้กำลังใจผู้ประสบภัยในโปสการ์ด เราจะนำเงินบริจาคไปมอบให้ผู้ประสบภัยในการประกอบอาชีพ ใช้เงินบริจาคเป็นเครื่องมือ ให้แนวคิดการพึ่งพาตนเอง และเตรียมพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ และเราได้เริ่มให้ความช่วยเหลือแล้วใน 2 พื้นที่ ชัยนาท และลพบุรี เราออกแบบการใช้เงินบริจาคให้มีประสิทธิภาพแบบไม่รู้จบ และผมหวังโครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาคที่ต้องการการบริจาคแบบสร้างสรร มีครีเอทีฟ ไม่เหมือนใคร ครับ

วันนี้ Wheelchair อย่างเรา ได้ Will Share สู่สังคมแล้ว ผมขอเชิญทุกท่านมาร่วมกับเราเพื่อ Will Share ด้วยกันครับ
ขอบคุณทุกท่านมากครับ


บทความที่เกี่ยวข้อง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Follow me on Twitter
Visit me on Facebook